วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 เวลา 8.30 น. สำนักงาน ปปส.ภ.6 นำโดยนายเอกชัย รัตนจันทร์ศิริ ผู้อำนวยการส่วนประสานพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) สนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อนหมู่บ้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย ณ ห้องประชุมพระศรีศาสดา (POC) ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก (หลังเดิม) โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธาน
ทั้งนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย ประสานการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่หมู่บ้านชุมชน ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตาม 10 ขั้นตอนกองทุนแม่ของแผ่นดิน ดังนี้ 1. ทำความเข้าใจการดำเนินงานแก่ครัวเรือนทุกครัวเรือน 2. จัดตั้งคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดิน 3. รับสมัครครัวเรือนสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 4. จัดตั้งกฎชุมชนเข้มแข็ง 5. ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องยาเสพติด 6. จัดตั้งกองทุนป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด 7. ประชาคมคัดแยกโดยสันติวิธี 8. ทำกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน (อย่างต่อเนื่อง) 9. การรับรองครัวเรือนปลอดภัย 10. การรักษาสถานะของชุมชนเข้มแข็ง
กิจกรรมการ Kick off หมู่บ้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกองทุนแม่ของแผ่นดิน ระดับจังหวัด กำหนด“พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) สนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อนงานหมู่บ้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย” กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 6 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด ปกครองจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอทั้ง 9 อำเภอ ทั้งนี้ กิจกรรม Kick off ระดับอำเภอ กำหนดดำเนินการ อำเภอละ 1 หมู่บ้าน ภายในเดือนมีนาคม 2567
ในการนี้ จังหวัดพิษณุโลกมีหมู่บ้านชุมชน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,198 แห่ง ซึ่งจัดตั้งเป็นกองทุนแม่ของแผ่นดินแล้ว อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 285 หมู่บ้าน สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 13 ชุมชน (ในเขตพื้นที่เทศบาลนครพิษณุโลก) กอ.รมน. จำนวน 7 หมู่บ้าน และหมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567 จำนวน 9 หมู่บ้าน (อำเภอละ 1 หมู่บ้าน) รวมจำนวนกองทุนแม่ของแผ่นดินทั้งสิ้น 314 หมู่บ้านชุมชน คงเหลือหมู่บ้านชุมชนเป้าหมาย ที่ยังไม่ได้จัดตั้งเป็นกองทุนแม่ของแผ่นดิน ต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2567 รวมทั้งสิ้นจำนวน 884 หมู่บ้านชุมชน