วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00 น. ผอ.ปปส.ภาค 6 มอบหมายให้นางสาวเบญจวรรณ รัตนมงคลกุล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ ส่วนประสานพื้นที่ เข้าร่วมประชุมหารือการประสานความร่วมมือในการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดในระบบงานคุมประพฤติ โดยมีนายปองศักดิ์ นันทเสน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานฯ ณ ห้องประชุมศาล อาคารศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้เข้าร่วมประชุมหารือประกอบด้วยผู้แทนจากกลุ่มงานบริหารจัดการคดี ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์, สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ และสำนักงาน ปปส.ภาค 6 สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้
1.กรณีผู้ถูกคุมความประพฤติและศาลไม่มีคำสั่งบำบัดรักษา จะไม่สามารถนำคดีกลับมาพิจารณาใหม่เพื่อส่งเข้ารับการบำบัดรักษาได้เนื่องจากมีคำพิพากษาไปแล้ว โดยจะดำเนินการได้เฉพาะคดีที่จะเข้าใหม่เท่านั้น และกรณีหากผิดเงื่อนไขก็จะดำเนินการลงโทษตามคำพิพากษาที่รอการลงโทษไว้
2.การส่งตัวจำเลยให้สถานพยาบาลยาเสพติดเพื่อรับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เบื้องต้นกำหนดให้ดำเนินการตามแนวทางการดำเนินการตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 166 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ก่อน เนื่องจากกรณีส่งตัวจำเลยให้สถานพยาบาลยาเสพติดเพื่อรับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 168 ยังไม่มีรูปแบบวิธีการที่ชัดเจนซึ่งศาลจะไม่สั่งบำบัดฯ ตามมาตรา 168 ไปก่อนหากยังไม่ได้มีคำสั่งให้แสวงหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 165 เนื่องจากไม่สามารถคัดกรองความประพฤติ ระดับการเสพติดยาเสพติด การตัดสินต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน และหากศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติแสวงหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 165 ก่อนพิจารณา จะเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกับทางสำนักงานคุมประพฤติ และระยะเวลาการนำส่งไปบำบัดจะยืดเวลาออกไปในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จริง ซึ่งอาจทำให้จำเลยกลับไปเสพซ้ำหรือกระทำความผิดในคดีอื่น ทั้งนี้ ศาลที่มีการดำเนินการสั่งบำบัดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 168 มากที่สุด ได้แก่ ศาลแขวงลพบุรี จึงเห็นควรให้สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อขอทราบแนวปฏิบัติว่าดำเนินการอย่างไร ในการนี้ หากจะกำหนดให้มีการดำเนินการเหมือนกันทั้งหมดควรกำหนดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายระดับมหภาคที่ชัดเจน
3.คำสั่งศาลในการกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติจะกำหนดปลายเปิดไว้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสม เช่น ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกประเภท ให้จำเลยไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติด ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และเพิ่มการติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) เพื่อเป็นการปราม
4.ควรมีการทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างสำนักงานคุมประพฤติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของแนวทางการส่งต่อแนวทางปฏิบัติต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้ ให้ตั้งกลุ่มไลน์ “กลุ่มบูรณาการบำบัดอุตรดิตถ์” โดยมีหน่วยงานที่ร่วมหารือเพื่อส่งต่อข้อมูลข่าวสารข้อสั่งการแนวปฏิบัติต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็ว
5.สำนักงาน ป.ป.ส.ควรมีการจัดสัมมนาหรือสนับสนุนงบประมาณในการสัมมนาผู้พิพากษาทั่วประเทศเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน