วันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 เวลา 09.30 น. สำนักงาน ปปส.ภ.6 โดย นายรณยุทธ ศรีน้อย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ส่วนประสานพื้นที่ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนครสวรรค์ ครั้งที่ 9 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ณ ห้องประชุม 301 ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีนายชุมพิชญ์ เดชะรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานการประชุม สรุปสาระสำคัญการประชุม ดังนี้
1.ผู้แทน ปปส.ภาค 6 นำเสนอ
- สถานการณ์ยาเสพติด สถิติการจับกุมคดียาเสพติด สถิติการเข้ารับบำบัด การจับกุมคดีสำคัญ การเฝ้าระวังและแนวโน้มสถานการณ์
- กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2567
- ประชาสัมพันธ์โครงการสื่อสาร สร้างสรรค์ รู้เท่าทันยาเสพติด (Be Smart Say No To Drugs)
2.ฝ่ายเลขานุการ ศอ.ปส.จ.นครสวรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลดำเนินงานด้านการปราบปราม การป้องกัน และการบำบัดยาเสพติด ประจำปี 2567 ตามตัวชี้วัดของหน่วยงาน (ห้วงเดือนตุลาคม 2566-มิถุนายน 2567)
3. ฝ่ายเลขานุการ ศอ.ปส.จ.นครสวรรค์ รายงานผลการดำเนินงานดังนี้
- รายงานผลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบ “นครสวรรค์โมเดล” และการปราบปรามยาเสพติดของชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครอง
- รายงานผลการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชรูปแบบ “เก้าเลี้ยวโมเดล”
4. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ รายงานผลการดำเนินดังนี้
- รายงานผลการดำเนินโครงการ TO BE NUMBER ONE จังหวัดนครสวรรค์ เดือนมิถุนายน 2567
- รายงานผลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด
- รายงานการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด เป้าหมาย 953 ราย ดำเนินการ 399 ราย คิดเป็นร้อยละ 41.87
5.ประธานฯ มีข้อสั่งการและข้อเสนอดังนี้
- ให้ทุก ศป.ปส.อ. เร่งรัดนำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งในรูปแบบ “นครสวรรค์โมเดล” และระบบอื่นที่เหมาะสม พร้อมทั้งนำข้อมูลลงระบบ บสต. ตั้งแต่เข้ารับการบำบัดครั้งแรก ซึ่งตามแผนปฏิบัติการเร่งรัด 3 เดือน มีเป้าหมาย 2,984 ราย ดำเนินการแล้ว 267 ราย คงเหลือ 2,717 ราย โดยการทำงานต้องประสานการปฏิบัติและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ให้นำข้อมูลที่ยังขาดจากต่างหน่วยงานมาลงระบบ บสต.ให้เรียบร้อยสมบูรณ์
- ให้ทุก ศป.ปส.อ. เร่งดำเนินการนำผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติดในพื้นที่เข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งตามแผนปฏิบัติการเร่งรัด 3 เดือน มีเป้าหมาย 252 ราย ดำเนินการแล้ว 10 ราย คงเหลือ 242 ราย ซี่งต้องเร่งดำเนินการ
- ให้ประสานข้อมูลสำนักงานคุมประพฤติในการเร่งรัดผู้ถูกคุมประพฤติเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยติดตามและให้ตรวจสอบข้อมูลและรายงานผลการติดตามในพื้นที่ว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือติดตามแล้วไม่พบตัวอยู่ในพื้นที่ กรณีติดตามแล้วพบว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีผู้สมัครใจบำบัดกี่ราย หรือถ้าไม่สมัครใจบำบัด ได้ขอให้ศาลเพิ่มเงื่อนไขให้เข้ารับการบำบัดมีกี่ราย ให้รายงานมา เพื่อนำข้อมูลมารายงานเป็นผลการดำเนินงานต่อไป
- เร่งรัดการดำเนินการตัวชี้วัดการสร้างความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดของจังหวัดนครวรรค์ ตามแผนปฏิบัติการเร่งรัด 3 เดือน ควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และความพึงพอใจอย่างต่อเนื่อง