วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น. สำนักงาน ปปส.ภ.6 โดยนางสาวเนาวรัตน์ นาคดี นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ ปพ. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) พิจิตร ประจำเดือนมิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุมหลวงพ่อเพชร ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพิจิตร โดยมีนายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยมีสาระสำคัญในการประชุมสรุปดังนี้
1. สำนักงาน ปปส.ภ.6 นำเสนอดังนี้
1.1 สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เดือนพฤษภาคม 2567 และการจับกุมการลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างในพื้นที่จังหวัดตาก สุโขทัย และพิษณุโลก
1.2 กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 โดยกำหนดปริมาณเมทแอมเฟตามีน ไม่เกิน 1 หน่วยการใช้
1.3 แนวทางการดำเนินงานต่อผู้ถูกคุมความประพฤติตามนโยบายของ รมว.ยธ. มีรายละเอียดดังนี้
- ภายหลังจากที่ประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลใช้บังคับ ผู้เสพหรือผู้ครอบครองเพื่อเสพ ถูกศาลตัดสินจำคุก (รอลงอาญา) แล้วส่งเข้าคุมประพฤติเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้เข้ารับการบำบัดรักษา และกรมคุมประพฤติ ไม่ใช่หน่วยงานที่สามารถบำบัดรักษาได้ตามกฎหมาย แต่ต้องรับภาระงานในการจัดการกับผู้เสพจำนวนมาก
- แนวทางดังกล่าว จึงกำหนดให้พนักงานคุมประพฤติ (พคป.) คัดกรองสภาพการเสพติดของผู้เสพที่ศาลสั่งคุมประพฤติ (แต่ไม่มีคำสั่งให้บำบัด) โดยประสาน สธ. มาคัดกรองสภาพการเสพติด หลังจากนั้น ให้ทำข้อเสนอต่อศาล เพื่อปรับแผนการแก้ไขฟื้นฟูฯ เป็นการบำบัดรักษา และให้ พคป. มีหน้าที่ในการนำตัวผู้ถูกคุมความประพฤติไปบำบัดรักษาที่สถานพยาบาลยาเสพติดตามคำสั่งศาล
1.4 ประชาสัมพันธ์โครงการสื่อสารสร้างสรรค์ รู้เท่าทันยาบ้า ประกวดคลิปวิดีโอสั้นทาง Tik Tok
2. ผู้แทนสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดพิจิตร ได้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า
2.1 สำนักงานคุมประพฤติฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของ รมว.ยธ. แล้ว โดยจะมีการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดในผู้ที่ศาลไม่ได้สั่งให้ไปบำบัด หากตรวจพบผลบวก พคป. จะทำหนังสือถึงศาล เสนอให้ศาลเพิ่มเติมเงื่อนไขในการสั่งให้ไปบำบัดรักษา
2.2 ศาลจังหวัดพิจิตรยังไม่เคยสั่งให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะหาข้อเท็จจริงของจำเลย เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินของศาลตามมาตรา 165 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดเลย แต่ส่วนใหญ่ศาลจะตัดสินให้คุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
3. ผู้แทนตำรวจภูธรจังหวัด (ภ.จว.) พิจิตร นำเสนอว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ตำรวจ ภ.จว.พิจิตรได้ทำการจับกุมนายณรงค์ฤทธิ์ และนางสาวสาวิตรี ชาว อ.เมืองพิจิตร พร้อมของกลางยาบ้า 159 เม็ด และขยายผลจับกุมเครือข่ายได้อีก 1 คน พร้อมตรวจยึดยาบ้าได้อีกจำนวน 100,500 เม็ด ที่บ้านพัก ม.4 ต.บ้านบุ่ง อ.เมืองพิจิตร จ.พิจิตร
4. ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิจิตร นำเสนอดังนี้
4.1 ผลการดำเนินงานบำบัดรูปแบบ CBTx ชุมชนล้อมรักษ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 19 มิถุนายน 2567 ใน 9 อำเภอ จำนวนทั้งสิ้น 197 ราย
4.2 โรงพยาบาลบางมูลนาก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลมินิธัญญารักษ์ มีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู จำนวนทั้งสิ้น 7 ราย
4.3 จังหวัดพิจิตรส่งผู้ป่วยไปเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูที่สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กองบิน 4 จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 8 คน กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 8 คน โดยสถานฟื้นฟูฯ ดังกล่าวมีแผนจะเปิดรับผู้ป่วยในรุ่นต่อไป ในปลายเดือนกรกฎาคม 2567
4.4 ผลการติดตามผู้ผ่านการบำบัด จำนวนทั้งสิ้น 293 ราย จำแนกเป็น
- ติดตามครบ ไม่เสพซ้ำ 254 ราย
- ติดตามครบ เสพซ้ำ 9 ราย
- ติดตามไม่ครบ เสพซ้ำ 1 ราย
- อื่นๆ ได้แก่ ติดตามไม่ได้ 9 ราย ถูกจับ 17 ราย เสียชีวิต 3 ราย
4.5 ผลการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ให้ความช่วยเหลือโดยการฝึกอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 23 ราย